LEGEND STORY

ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศักราช 2460 หนุ่มน้อยอายุ 15 ปี จากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ชื่อ ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล ล่องสำเภาพร้อมบิดา แบบเสื่อและหมอนมายังแผ่นดินสยาม โดยอาชีพแรกของเขาเมื่อถึงแผ่นดินสยาม คือขายเหล็กในโรงงานของคุณอา และได้สะสมประสบการณ์ในหน้าที่การงาน จนได้เป็น หลงจู๊ ในโรงไม้จินเส็ง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒารามในปัจจุบัน)  วิชัยพบรักกับสาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนอยุธยา บุญสม บุญยนิตย์ หลังจากแต่งงานเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ เขาได้บุตร-ธิดาเป็นทายาทสืบทอดตระกูล ซอโสตถิกุล รุ่นที่ 2 รวมทั้งสิ้น 9 คน 

ช่วง พ.ศ. 2478 วิชัยตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นที่จะผันตัวเองขึ้นมาเป็น “เถ้าแก่” บุกเบิกธุรกิจของตัวเอง เช่าอาคาร 2 ชั้น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานพุทธฯ (ถนนตรีเพชร เขตพระนคร) โดยก่อตั้งบริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจ ซื้อมา-ขายไป นับเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของตระกูล “ซอโสตถิกุล” แต่การดำเนินธุรกิจในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสิ่งที่ยากแสนสาหัส นอกจากเศรษฐกิจที่ซบเซาแล้ว ยังต้องหนีการทิ้งระเบิดในพระนครอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย


เมื่อควันของสงครามยุติกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจของวิชัย ซอโสตถิกุล เริ่มมั่นคงและขยายตัวรุดหน้า ตั้ง บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2491 โดยย้ายสำนักงานไปย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ (ตรงข้ามซอยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน) มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด รวมถึงการติดต่อร่วมทำธุรกิจกับชาวสิงคโปร์เพื่อนำเข้า รองเท้าผ้าใบจากประเทศสิงค์โปร์ ยี่ห้อหนำเอี๊ย รุ่น 500 ผ้าสีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล บรรถุงในถุงกระดาษสีน้ำตาล เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในราคาคู่ละ 12 บาท (หนำเอี๊ย แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) 

ธุรกิจรองเท้าหนำเอี๊ยในช่วง 2 ปีแรกยังขาดทุน แต่ภายหลังเมื่อตลาดเริ่มตอบรับดีขึ้นในตลาดสำเพ็ง และตลาดต่างจังหวัด ที่ติดใจในคุณภาพของสินค้า จนมีคนกล่าวติดตลกว่า “ใส่เดินทำงานข้ามภูเขา ไป-กลับ ได้สบาย ส่วนรองเท้ายี่ห้ออื่น ขาไปใส่หนึ่งคู่ พังพอดี ต้องเตรียมไปอีกคู่เพื่อใส่กลับ” และเมื่อ รองเท้าหนำเอี้ย เป็นที่นิยมอย่างมากในเวลาต่อมา ทำให้บริษัทลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว และได้เปลี่ยนการออกเสียงยี่ห้อให้เป็นสากลมากขึ้น จาก หนำเอี๊ย ภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็น หนันหยาง (Nan-Yang) ภาษาจีนกลาง แต่เพื่อให้ติดปากคนไทยมากขึ้น จึงเรียกว่า “นันยาง” ตั้งแต่นั้นมา โดยได้จดทะเบียนการค้า “นันยาง ตราช้างดาว” กับกระทรวงพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2492 ก่อนที่  วิชัย-บุญสม ซอโสตถิกุล จะร่วมสร้างตำนาน “นันยาง” ในประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2496

นโยบายการเชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนสินค้าไทย ในช่วง พ.ศ. 2490 มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิชัยมีแนวคิดจะผลิตสินค้าเอง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศ จนในที่สุด นายห้างวิชัย ได้ตัดสินใจซื้อกิจการและกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยจากสิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เรียบถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ เพื่อเป็นฐานการผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทย โดยมีช่างรองเท้าชาวสิงค์โปร์จำนวน 30 คน เดินทางโดยเรือมาจากสิงคโปร์ไปมาเลเซีย และนั่งรถไฟต่อมาถึงกรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2496 รองเท้าผ้าใบนันยางได้เริ่มสายการผลิตในประเทศไทย ซึ่งในวันนั้นสามารถผลิตรองเท้าได้ 70 คู่ พร้อมคำว่า “Made in Thailand” ที่ถูกประทับคู่กับโลโก้ “นันยางตราช้างดาว” เป็นครั้งแรก
 
 
 
ขณะที่นายห้างวิชัยดูแลภาพรวมของบริษัท คุณนายบุญสม ซอโสตถิกุล ภรรยาคู่ชีวิต ได้อาสาดูแลการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยตัวเองทุกวัน บ่อยครั้งจะลงมือคัดเลือกรองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยตนเอง ก่อนที่สินค้าจะส่งออกสู่ตลาด พุทธศักราช 2499 ได้ถือกำเนิด รองเท้าแตะตราช้างดาว รุ่น 200 ขึ้น ด้วยการพัฒนาส่วนผสมและกระบวนการผลิตอย่างลงตัว จึงให้รองเท้าแตะตราช้างดาวขณะนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีสองสีคือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน ใส่ในถุงพลาสติกใส ราคาคู่ละ 15 บาท เมื่อ พ.ศ. 2528 ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก)

ในปัจจุบัน รองเท้าแตะนันยางตราช้างดาว หลายร้อยล้านคู่ได้ผ่านร้อนหนาวร่วมกับคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์ความสบาย ง่ายง่าย ทนทาน ลุยไปทุกที่ ใส่ได้หมดไม่ว่ารวยหรือจน ทุกเพศทุกวัย และได้รับความนิยมจากรุ่นสู่รุ่น ช้างดาวจึงเป็นมากกว่ารองเท้า เป็นมากกว่าแฟชั่น แต่เป็น 'สไตล์' ที่อยู่เหนือกาลเวลา


 
ครบรอบ 25 พุทธศตวรรษใน พ.ศ. 2500 เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล บุตรชายคนโตของวิชัย ซอโสตถิกุล กลับมาจากประเทศอังกฤษ ต้องการผลิตรองเท้านันยางสำหรับแบดมินตันโดยเฉพาะ จึงได้พัฒนารองเท้าที่ใช้รหัสในการผลิตว่า 205-S โดยเป็น รองเท้าพื้นสีเขียว ซึ่งนับเป็นสีที่แปลกมากในขณะนั้น ด้วยความเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการแบดมินตันไทย ซึ่งภายหลังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ทำให้รองเท้านันยางรุ่น 205-S ที่เพียรศักดิ์ออกแบบ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแบดมินตันชาวไทยจนกระทั่งขยายตัวไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักกีฬา กิจกรรมผจญภัย ตลอดจนงานในด้านอุตสาหกรรม โรงงาน การขนส่ง การเกษตร หรือผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ จนมีสินค้าเลียนแบบจำนวนมาก เมื่อ พ.ศ. 2537 นันยางตัดสินใจเพิ่มโลโก้ “Nanyang” ลงบนรองเท้าเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทราบว่าใส่รองเท้านันยางเท่านั้น
 

 

ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น กรอปกับการขยายตลาดของสินค้านันยาง ส่งผลให้บริษัทลงทุนขยายและพัฒนาฐานการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ บริเวณเขตบางแค และก่อตั้ง บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2512  และ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในพ.ศ. 2522  โดยย้ายสำนักงานใหญ่จากแยกตลาดน้อย มาบริเวณถนนสี่พระยา เขตบางรัก จนถึงทุกวันนี้ รองเท้านันยางพื้นเขียว ถือเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการรองเท้าไทย โดยรัฐบาลประกาศให้เป็น “สินค้าไทยดีเด่น” ใน พ.ศ. 2527 และ “ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของประเทศไทย” ใน พ.ศ. 2558 นอกจากนันยางจะเป็นที่นิยมในประเทศแล้ว  ยังส่งออกไปต่างประเทศมากมาย เช่น จีน ลาว กัมพูชา  เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรไทย และสร้างรายได้กลับเข้าประเทศอีกด้วย

การเดินทางที่ผ่านมาบนรองเท้านันยาง จากความสำเร็จในอดีต สู่ความมั่นคงในปัจจุบัน จากเด็กชายชาวฮกเกี้ยนคนหนึ่ง ถึงพนักงานบริษัทกว่าหมื่นชีวิต ก้าวต่อไปของตำนานนันยาง คือการมุ่งมั่นที่จะเติบโตให้สอดรับกับการก้าวสู่ตลาดโลกที่ไร้พรมแดน ดำเนินธุรกิจด้วยการผลิตสินค้าคุณภาพ ค้าขายด้วยคุณธรรม ประกอบธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐาน การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ “ศตวรรษนันยาง” อย่างมั่นคง และ เป็น “ตำนาน” ที่ยั่งยืนตลอดไป

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนกว้างไกลของ นายห้างวิชัย และ คุณนายบุญสม ซอโสตถิกุล ที่มีความมานะ ขยัน อดทน ประหยัดเก็บออม จนพอที่จะเริ่มลงทุนในธุรกิจโรงงานรองเท้าเล็กๆ ของตนเองแล้วค่อยๆ แตกแขนงลงทุนในธุรกิจอื่นๆ จนเจริญเติบโต ที่ปัจจุบันขยายกิจการในนาม “กลุ่มซีคอน” (Seacon Group) แต่ละก้าวได้เพิ่มศักยภาพ ความมั่นคง และความแข็งแกร่งให้กลุ่มซีคอนมาโดยตลอด สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จจนได้รับการยอมรับ ภายใต้การดูแลของทายาทธุรกิจของวิชัย-บุญสม ในรุ่นที่ 2 ของ ซอโสตถิกุล ได้แก่ เพียรศักดิ์-กอบชัย-พรพรรณ-พรศักดิ์-พูนศักดิ์-ธวัชชัย-เกริกชัย-ศิรินทร-พรจันทร์ ผสมผสานกับการบริหารจัดการของทายาทรุ่นที่ 3 ทำให้กลุ่มซีคอนได้ดำเนินการขยายกิจการต่อเนื่อง มีธุรกิจหลากหลายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันธุรกิจของ “เครือซีคอน” หรือ “SEACON GROUP” (www.seacongroup.com) ประกอบด้วย
1. รองเท้านันยาง (พ.ศ. 2496) www.Nanyang.co.th
2. ผงชูรส ไทยชูรส ตราชฎา (พ.ศ. 2501) www.ThaiChuros.co.th
3. ซีคอนโฮม รับสร้างบ้าน (พ.ศ. 2504) www.SeaconHome.co.th
4. ศูนย์สรรพสินค้า ซีคอนสแควร์ (พ.ศ. 2537) www.SeaconSquare.com
5. ศูนย์สรรพสินค้า ซีคอนบางแค (พ.ศ. 2555) www.SeaconBangKae.com
6. โรงแรมเรเนซองส์ ภูเก็ต รีสอร์ทแอนด์สปา (พ.ศ. 2553) www.RenaissancePhuket.com
7. เอราวัณนา ที่พักอาศัยระดับพรีเมี่ยม จ.ภูเก็ต (พ.ศ. 2548) www.Erawana.com
8. ดิ เอสเตท ทาวน์โฮมย่านอ่อนนุช (พ.ศ. 2555) www.SeaconEstate.com
9. ดิ เอดิชั่น โครงการบ้านเดี่ยวคุณภาพระดับไฮเอนด์ (พ.ศ. 2559) www.EditionBangkok.com